ข้อดีข้อเสียของการเวนคืนกรมธรรม์

จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว ต้องทำอย่างไร? เวนคืนกรมธรรม์ดีไม๊

การทำประกันถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็คงวางแผนการเงินและหาข้อมูลมาอย่างดีแล้วก่อนที่จะตกลงใจทำประกัน คำนวณไว้แล้วว่าคงจ่ายเบี้ยประกันไหว แต่คนเรามักจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นในชีวิตอยู่เสมอ ช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมาก็มีหลายคนตกงาน สูญเสียรายได้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงทำให้เริ่มจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหว และคงคิดที่อยากจะยกเลิก หรือขอ “เวนคืนกรมธรรม์” เพื่อนำเงินสดออกมาใช้จ่าย

ก่อนที่จะตัดสินใจ เราควรมาพิจารณา ข้อดี ข้อเสีย ของการ “เวนคืนกรมธรรม์” กันสักหน่อยดีกว่า

ข้อดีของการเวนคืนกรมธรรม์

1. ลดค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น

เนื่องด้วยภาระของแต่ละคนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวเองหรือคนที่เรารัก หลาย ๆ คนเลทอกซื้อกรมธณรม์ที่ทุนค่อนข้างสูง แต่พอความรับผิดชอบลดลง เลยมองว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันสูง ๆ อีกต่อไป การลดค่าใช้จ่ายโดยการเวนคืนกรมธรรม์น่าจะเป็นทางออกที่ดี

2. บริหารการเงินได้ดีขึ้น

การมีประกันช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของเราก็จริง แต่ถ้าต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันที่แพงเกินไป ก็จะกลายเป็นภาระของเรา เบี้ยประกันควรอยู่ที่ 10-15% ของรายได้

3. เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ที่ตอบโจทย์ชีวิตได้ดีกว่า

ตอนเริ่มทำงานเราอาจทำประกันสุขภาพที่เบี้ยประกันถูก ๆ ไว้ แต่ไม่ได้ครอบคลุมมากเท่าไหร่นัก พอเวลาผ่านไป เราอายุมากขึ้น รายได้มากขึ้น ก็อาจจะเปลี่ยนกรมธรรม์ที่ครอบคลุมคุ้มครองมากขึ้น

ข้อเสียของการเวนคืนกรมธรรม์

1. เงินที่ได้คืนกลับมาอาจจะไม่คุ้มกับที่เสียไป

การที่เราเวนคืนกรมธรรม์หลังจาก 15 วันไปแล้ว เงินที่ได้รับกลับมาอาาจะน้องกว่าเบี้ยประกันที่เราจ่ายไป หรือบางทีอาจจะไม่ได้คืนเลย เนื่องจากกรมธรรม์ยังไม่มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้น

2. บริษัทประกันจะพิจารณาความเสี่ยงมากกว่าเดิม

เมื่อเราอยากจะกลับไปทำประกัน บริษัทจะมีข้อกำหนดที่ต้องพิจารณา เมื่อเราอายุมากขึ้นปัญหาสุขภาพก็จะตามมา เมื่อเรามีปัญหาสุขภาพก็อาจจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันที่สูงกว่าเดิม หรืออาจจะทำใหม่ไม่ได้เลยก็ได้ เนื่องจากเราสุขภาพไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อครั้งแรกที่เริ่มทำประกัน อย่าลืมนะครับ “เมื่ออายุมากขึ้น ปัญหาสุขภาพก็จะตามมา” เป็นเรื่องปกติของคนเรา

3. ค่าเบี้ยประกันอาจจะแพงกว่าเดิม

ถ้าเราเวนคืนไปแล้วและไปซื้อประกันที่คล้ายของเดิม เราอาจต้องจ่ายเบี้ยประกันแพงขึ้น เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองเท่าเดิม เนื่องจากอายเรามากขึ้นกว่าตอนทำประกันครั้งแรก แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป ขึ้นอยู่กับกรมธรรม์ที่เราเลือก

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ก่อนที่จะเวนคืนกรมธรรม์ ต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่า คุ้มไม๊ที่จะยกเลิก แต่ก็ยังมีทางออกทางอื่นอยู่สำหรับคนที่จ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวจริง ๆ

  1. จ่ายเบี้ยประกันในระยะเวลาผ่อนผัน บริษัทมีระยะเวลาให้ 31 วัน นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดการชำระเบี้ย
  2. ขอเปลี่ยนงวดการชำระเป็นแบบรายเดือน แทนการจ่ายรายปี ซึ่งเป็นเงินก้อน แต่ค่าเบี้ยประกันแบบแบ่งจ่าย จะมีมูลค่าสูงกว่ารายปี
  3. ขอลดจำนวนเงินเอาประกันภัย จะทำให้เราจ่ายค่าเบี้ยน้อยลงไปด้วย
  4. ขอเปลี่ยนแบบกรมธรรม์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อกำหนดของบริษัทประกันนั้น ๆ ทั้งนี้เราก็ควรพิจารณาว่า ตรงกับความต้องการของเรามากน้อยเพียงใด
  5. ขอเปลี่ยนเป็น “กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ” หรือ กรมธรรม์แบบขยายเวลา” ได้ ถ้าเราจ่ายค่าเบี้ยประกันจนมีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้น และมีผลบังคับใช้อยู่ เราสามารถเป็นเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ซึ่งก็คือลดจำนวนเงินเอาประกัน แต่เวลาคุ้มครองเท่าเดิม หรือกรมธรรม์แบบขยายเวลา คือการลดเวลาคุ้มครอง แต่เงินเอาประกันเท่าเดิม
  6. นำเงินเวนคืนมาชำระเบี้ยประกัน เป็นคล้าย ๆ กับการตั้งกู้อัตโนมัติ โดยบริษัทจะนำมูลค่าเงินสดในกรมธณรม์มาชำระค่าเบี้ยก่อน เพื่อให้เกิดความคุ้มครองต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนด และถ้าเมื่อไหร่มูลค่าที่กู้อัตโนมัติหมด กรมธรรม์ก็จะขาดผลบังคับใช้ทันที

ถ้าเราจ่ายเบี้ยประกันไม่ไหวเราจะมีทางเลือกตามที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากการเวนคืนกรมธรรม์เพื่อนำเงินสดออกมา ซึ่งจะได้ไม่คุ้มเสียกับเงินที่เราจ่ายไป เราควรรู้ว่าเรามีสิทธิ์อะไรบ้าง และเมื่อการเงินเราดีขึ้น เราค่อยมาเริ่มวางแผนกันใหม่

บทความที่เกี่ยวข้อง